วันเสาร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2555

นับถอยหลังสู่สงครามโลกครั้งที่สาม

แม้เวลาจะผ่านไปกว่า 70 ปี แต่ภาพความรุนแรงของสงครามโลกครั้งที่สองยังคงตราตรึงอยู่ในสังคมโลกอย่าง ไม่รางเลือน ในเวลานั้นประเทศที่เข้าสู่สงครามร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรที่ประกอบไปด้วย กลุ่มประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ใช้อาวุธหลากรูปแบบห้ำหั่นกับฝ่ายพันธมิตรอักษะที่มีเยอรมนีเป็นแกนนำร่วม กับญี่ปุ่นและอิตาลี ทั้งปืนใหญ่ เครื่องบินที่โปรยปรายลูกระเบิดเหล็กหนักหลายร้อยกิโลกรัมลงมาจากท้องฟ้า อาวุธจรวดพิสัยกลางที่ในเวลานั้นยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนา
                        
ส่วนญี่ปุ่นที่ยังไม่ยอมเลิกราจนสหรัฐอเมริกาต้องใช้ดินแดนอาทิตย์อุทัยเป็น สถานที่ทดลองอำนาจการทำลายล้างของระเบิดนิวเคลียร์ถึง 2 ลูก ที่เมืองฮิโรชิมา และนางาซากิ บีบให้กองทัพสมเด็จพระจักรพรรดิยอมวางดาบยกธงขาวและลงนามตราสารยอมจำนนบน เรือรบมิสซูรีของสหรัฐในที่สุด ประเมินกันว่าสงครามโลกครั้งที่สอง ที่มีการใช้อาวุธทางทหารทำลายล้างกันนั้นทำให้พลเมืองโลกเสียชีวิตไปกว่า 60 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นพลเรือน 40 ล้านคน และทหาร 20 ล้านคน
                        
ที่หยิบยกเอาประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่สองมาอย่างยืดยาวนี้ เพื่อให้มองเห็นภาพอันเลวร้ายของสงครามที่ไม่เคยส่งผลดีใดๆ ต่อสังคมโลก มีแต่การสูญเสียเลือด เนื้อ และชีวิต เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ และเศรษฐกิจโลกล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ประชาชนผู้รอดชีวิตจากการหนีความตายกันจ้าละหวั่น ต้องใช้ชีวิตอย่างอดอยากยากแค้นแม้สงครามจะสิ้นสุดลงไปแล้วก็ตาม
                        
ทั้งยังอยากจะเตือนด้วยว่าสงครามโลกครั้งที่สามอาจจะปะทุขึ้นอย่างคาดไม่ถึง จากเหตุแห่งความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ของประเทศยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจที่ พยายามทำตัวเป็นตำรวจโลก ร่วมกับพันธมิตรในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ที่กำลังทำสงครามไซเบอร์กับประเทศคู่ขัดแย้งในตะวันออกกลาง ดังที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่เนืองๆ ว่ามี "ไวรัส" หรือ "มัลแวร์" เข้าทำลายเครื่องและเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในประเทศอิหร่านถึง 3 ครั้ง 3 ครา
                       
เริ่มจากการค้นพบไวรัส "ไวเปอร์" (wiper) เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2553 ต่อมาก็มีข่าวการค้นพบไวรัส "สตุ๊กซ์เน็ต" (stuxnet) และล่าสุดไวรัสที่ชื่อ "เฟลม" (flame) ที่ได้ชื่อว่าเป็นไวรัสที่มีความซับซ้อนและมีประสิทธิภาพในการ "ล้วง" ข้อมูลอย่างยิ่ง โดย "เฟลม" ถูกตั้งโปรแกรมให้ค้นหาไฟล์เอกสารสำคัญนามสกุล .pdf และไฟล์พิมพ์เขียวจากโปรแกรมออกแบบ AutoCAD รวมทั้งเอกสารจดหมายอีเมลต่างๆ ก่อนส่งกลับไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ต้นตอ ยิ่งไปกว่านั้น "เฟลม" ยังมีระบบควบคุมจากระยะไกล ที่ทำให้ผู้สร้างสามารถสั่งการควบคุมให้เจ้าตัวร้ายนี้ค้นหาไฟล์ที่ต้องการ ในเครือข่ายคอมพิวเตอร์เป้าหมายได้อีกด้วย
                       
อิหร่านยอมรับว่าครั้งที่โดนไวรัส สตุ๊กซ์เน็ตเข้าไป ทำให้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ควบคุมโรงงานเสริมสมรรถนะยูเรเนียมของประเทศล้ม เหลวถึง 20 รอบ แต่ก็ไม่ยอมเปิดปากว่าครั้งที่รับไวรัสเฟลมเข้าไปนี้ถูก "ล้วง" อะไรออกไปบ้าง
                       
ห้องปฏิบัติการไวรัสคอมพิวเตอร์ของบริษัทแคสเปอร์สกี้แล็บ ยืนยันว่าไวรัส เฟลม นั้นมีความซับซ้อนเกินกว่าที่โปรแกรมเมอร์เอกชนจะมีศักยภาพในการสร้างขึ้น ได้ ซึ่งการเปิดเผยดังกล่าวเกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันกับที่หนังสือพิมพ์ นิวยอร์กไทมส์รายงานว่า นายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ออกปากยอมรับว่าตนเองอยู่เบื้องหลังการโจมตีโรงงานเสริมสมรรถนะนิวเคลียร์ อิหร่านด้วยไวรัสสตุ๊กซ์เน็ต แต่ก็ยังไม่ได้เปิดปากว่าตนเองมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างไวรัสเฟลมมากน้อย เพียงใด
                       
แต่ในที่สุดความจริงก็เปิดเผยขึ้นมาเมื่อกระทรวงกลาโหมอิสราเอลยอมรับ "เป็นนัย" ว่าเป็นผู้สร้างไวรัสเฟลมขึ้นมาเอง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสหรัฐอเมริกา และอิสราเอล กำลังก่อสงครามไซเบอร์กับอิหร่านอย่างชัดเจน
                       
อย่างไรก็ตามไวรัสเฟลมไม่ได้ระบาดไปที่อิหร่านเพียงประเทศเดียว ดินแดนส่วนหนึ่งของอิสราเอลและปาเลสไตน์ ซีเรีย เลบานอน ซาอุดีอาระเบีย และอียิปต์ ก็มีการตรวจพบเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ติดไวรัสเฟลมด้วยเช่นกัน
                       
ร้อนถึงสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ต้องประกาศเตือนภัยรัฐบาลนานาประเทศ ให้ระวังอันตรายของไวรัส เฟลม ซึ่งถือเป็นคำเตือนครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่องค์กรผู้ดูแลทรัพยากรการสื่อสาร และอินเทอร์เน็ตระดับโลก เคยประกาศออกมา และแสดงว่า สงครามไซเบอร์ระหว่างประเทศนั้นเริ่มต้นขึ้นมาแล้วจริงๆ



ขอบคุณข้อมูลจาก komchadluek.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น