วันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2555

ครูผู้เสียสละแห่งโรงเรียนเรือนแพ

อาจจะพบได้ไม่บ่อยนักที่ใครคนสักคนจะยอมทิ้งความสุขสบายในเมือง เข้าไปอยู่ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสั่งสอนวิชาความรู้ให้กับอนาคตของชาติ

“สามารถ สุทะ” ก็คือคน ๆ หนึ่งที่คิดเช่นนั้น และตัดสินใจเข้าไปสอนเด็ก ๆ ในโรงเรียนเล็ก ๆ แห่งหนึ่งบนกระท่อมไม้ไผ่กลางแม่น้ำปิง

การเดินทางไปสอนนักเรียนแต่ละครั้งนั้น เป็นเรื่องลำบากไม่ใช่เล่น ครูสามารถ ต้องตื่นและออกเดินทางจากบ้านในตัวจังหวัดลำพูน ตั้งแต่ตี 5 ขับรถเป็นเวลาเกือบ 5 ชั่วโมง ไปยังหน่วยพิทักษ์ป่าแก่งก้อ อุทยานแห่งชาติแม่ปิง รวม ๆ ระยะทางไม่ต่ำกว่า 100 กิโลเมตร

เมื่อถึงปลายทางสุดท้ายที่สามารถขับรถเข้าไปถึงแล้ว ครูสามารถ จะลงจากรถแล้วถ่อเรือผ่านสายน้ำปิง และฝ่าดงผักตบชวาจำนวนมหาศาลที่เป็นอุปสรรคขวางทาง เพื่อไปยังจุดหมายสุดท้าย
ณ “โรงเรียนบ้านก้อจัดสรร ห้องเรียนสาขาเรือนแพ” กระทั่งเวลาประมาณเที่ยงตรง เรือของครูสามารถจะมาหยุดอยู่กลางโรงเรียนเรือนแพ โดยมีลูกศิษย์ตัวเล็ก ๆ 5 คน ยืนรอครูที่ใช้เวลาเดินทางร่วม 7 ชั่วโมงอย่างใจจดใจจ่อ

“ตอนที่มาเห็นที่นี่ครั้งแรก สภาพภายในยังรกรุงรัง ไม่เหมือนห้องเรียน เป็นโรงเรียนร้าง หยากไย่ ใบไม้เต็มไปหมด ตอนที่มาเห็นครั้งแรกก็ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะอยู่สอนที่นี่ดีไหม ยังไขว้เขวอยู่
เพราะที่เคยอยู่ก็สบาย แต่มาที่นี่ต้องเริ่มใหม่หมดทุกอย่าง แล้วมีเราแค่คนเดียว แต่สุดท้ายเราก็คิดว่า เราเริ่มเบื่อความสบายแล้ว ก็เลยตัดสินใจอยู่กับสังคมใหม่นี้”

ด้วยความที่การเดินทางมายังโรงเรียนแห่งนี้ค่อนข้างลำบากมาก ทำให้ทั้งครูและนักเรียน ต้องมาใช้ชีวิตกินนอนอยู่ด้วยกันในโรงเรียนแห่งนี้ตลอด 24 ชั่วโมง ราวกับเป็นโรงเรียนประจำ
การเรียนการสอนของที่นี่ เด็ก ๆ จะได้ทำกิจกรรมหลายอย่าง ๆ ที่ครูสามารถประยุกต์เข้ามาสอน เพื่อฝึกทักษะชีวิต เพื่อให้มีความรู้เท่าทันโลกภายนอกด้วยเช่นกัน

ครูสามารถ ไม่ใช่เป็นเพียง “ครู” ที่ต้องรับบทบาทสอนเด็ก ๆ ทุกชั้นเรียน ทุกรายวิชาแต่เพียงเท่านั้น เพราะเขายังต้องเป็น “ภารโรง” ที่คอยดูแลทำความสะอาด และในตอนกลางคืน ก็ยังต้องสวมบทเป็น “ผู้ปกครอง” ที่คอยเคี่ยวเข็ญให้เด็ก ๆ รู้จักทบทวนบทเรียนในแต่ละวันอย่างแข็งขันอีกด้วย

“ที่นี่มีครูแค่คนเดียว และเป็นโรงเรียนพักนอนด้วย เราเลยต้องดูแลนักเรียนอย่างเต็มที่ เพราะผู้ปกครองไว้ใจเราให้เด็กมาเรียน จากที่เคยคิดว่าเป็นงาน เป็นหน้าที่ ก็เปลี่ยนมาเป็นชีวิตประจำวันของเราไปซะ มันก็เลยเหมือนกับว่าเราอยู่กับชีวิตประจำวัน เราไม่ได้อยู่กับงาน”

ทุก ๆ วันเสาร์ ที่โรงเรียนหยุด เขาจะเดินทางไปเรียนหนังสือหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อที่จะนำประสบการณ์ที่เพิ่มเข้ามาไปป้อนให้ลูกศิษย์ตัวน้อยได้เรียนรู้ ต่อไป

“ผมมองตัวเองว่า ผมทำงานที่นี่ ผมไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นมืออาชีพ แต่ผมเต็มที่ในสิ่งที่ผมทำ มุ่งมั่นเพื่อเด็ก มุ่งมั่นที่จะเปิดโอกาสให้เด็กมากกว่าที่อยากจะเป็นครูมืออาชีพ”

 


ขอบคุณ:kapook.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น