วันจันทร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2555

ค่าแรง 300 นับถอยหลัง SME ปิดตัว

1 เมษายน 2555 ถือเป็นวันแรกที่การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ใน 7 จังหวัด ปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุว่า จะเป็นการยกระดับรายได้ให้แก่แรงงานที่มีผลดีมากกว่าผลเสีย เพราะขณะนี้ค่าครองชีพต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

หากไม่ปรับขึ้นค่าแรงจะทำให้เงินหมุนเวียนในระบบขาดหาย แต่หากแรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้น อำนาจการซื้อก็เพิ่มขึ้น การจับจ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจะซื้อง่ายขายคล่องขึ้น เม็ดเงินจะกลับมายังผู้ประกอบการในที่สุด แม้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ผู้ประกอบการอาจได้รับผลกระทบบ้าง แต่เป็นเพียงระยะสั้น
“จังหวัดที่เหลือรัฐบาลจะให้ปรับขึ้นพร้อมกันในวันที่ 1 มกราคม 2556 และจะมีการติดตามผลการปรับค่าจ้างจาก 7 จังหวัดนำร่อง และดูภาวะผันผวนทางเศรษฐกิจอีกครั้ง”

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ กล่าวเรื่องนี้ว่า เป็นนโยบายของพรรคเพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้นให้เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน
ไม่อยากให้มองเป็นการเพิ่มค่าการผลิตจะทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น แต่การปรับค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ และพัฒนาฝีมือแรงงานตามราคาค่าแรง

รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยอมรับว่า เป็นกฎหมายที่เอกชนคงต้องปฏิบัติตาม และก็ต้องปรับตัวรองรับ ส่วนเอกชนที่ไม่สามารถแบกรับภาระได้จริงที่สุดคงหนีไม่พ้นการปรับขึ้นราคา สินค้า ซึ่งก็เป็นไปตามวัฏจักรหรือทฤษฎี 2 สูง คือปล่อยให้ราคาสินค้าปรับขึ้นตามกลไกควบคู่ไปกับการปรับขึ้นค่าแรงเพื่อให้ สอดรับกับรายจ่าย

“จริง ๆ เราเองไม่ได้คัดค้านการขึ้นค่าแรงเลย แต่ปัญหาคือรัฐบาลควรมีกลไกดูแลราคาสินค้าให้นิ่งก่อนแล้วทยอยปรับขึ้นค่า แรง เพราะการขึ้นครั้งนี้เกือบ 40% มันเร็วไปนิดหนึ่ง
และอยากให้หามาตรการดูแลผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) เพราะเขามีอำนาจต่อรองต่ำมาก ซึ่งตอนนี้คงประเมินยาก แต่คิดว่าอีก 3 เดือนข้างหน้าจะเห็นชัดว่าผลกระทบมากน้อยเพียงใด”
รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า เอกชนส่วนใหญ่ได้เตรียมรับภาระรายจ่ายที่ต้องเพิ่มขึ้นจากการปรับค่าแรงแล้ว แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเอสเอ็มอี 2.3 ล้านรายทั่วประเทศอาจต้องประสบปัญหาขาดทุน โดยคาดว่า 20-30% ของเอสเอ็มอีมีโอกาสต้องปิดกิจการลง

รายใหญ่ไม่น่าห่วง แต่รายเล็กลำบากที่จะปรับราคาสินค้าระยะแรก ๆ นี้ แถมยังมีต้นทุนรอบด้าน ทั้งน้ำมัน ค่าแรงที่เพิ่ม และบางรายยังเจอน้ำท่วมก็ยังไม่ฟื้นตัว เอสเอ็มอีคงทยอยเจ๊งและปัญหานี้คงจะชัดมากขึ้นปี 2556 เพราะค่าแรงจะปรับขึ้นทั่วประเทศ

ภาพมันจะค่อย ๆ เห็น และจะไปรุนแรงในปี 2556 ที่ค่าจ้างขึ้นทั่วประเทศ วันนี้มาตรการช่วยเหลือทุกอย่างไม่ได้ตกกับเอสเอ็มอีเลย ซึ่งลูกจ้างเองก็เชื่อว่าถ้าเลือกได้ระหว่างขึ้นค่าจ้างกับของไม่ขึ้นราคา เขาเลือกของไม่ขึ้นราคาดีกว่าเพราะเขาเองก็ไม่แน่ใจว่าที่สุดแล้วกิจการจะ อยู่ได้นานแค่ไหน”
ปัจจุบันไทยมีตำแหน่งงานว่างอยู่ประมาณ 3 ล้านอัตรา หากแรงงานไม่เลือกงาน ก็เชื่อว่าปัญหาการว่างงานก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น แต่หลังจากการปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำแล้ว แรงงานก็ต้องทำงานให้คุ้มค่า มีความขยัน และต้องหมั่นเรียนรู้ ฝึกฝนทักษะใหม่ ๆ อยู่สม่ำเสมอ


ขอบคุณ:ไทยโพสต์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น